วันจันทร์ที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2556

ประวัติพระบรมมหาราชวัง

พระบรมมหาราชวัง (อังกฤษ: Grand Palace) หรือพระราชวังพระนคร เป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์สมัยรัตนโกสินทร์ ตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตั้งอยู่ที่แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร

ปัจจุบัน พระบรมมหาราชวังเป็นสถานที่ท่องเที่ยว ที่ได้รับความนิยมมากเป็นอันดับที่ 16 ของโลก โดยมีผู้เข้าเยี่ยมชมในปี พ.ศ. 2549 เป็นจำนวนถึง 8,995,000 คน

ประวัติพระบรมมหาราชวัง

เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชปราบดาภิเษกขึ้นเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี พระองค์ทรงย้ายราชธานีจากกรุงธนบุรีมายังฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาและโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชวังหลวงขึ้นเพื่อเป็นศูนย์กลางการปกครองของประเทศและเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ การก่อสร้างพระราชวังหลวงเริ่มขึ้นพร้อมกับการสร้างพระนครเมื่อ พ.ศ. 2325 โดยสร้างขึ้นในบริเวณที่เคยเป็นที่อยู่ของพระยาราชาเศรษฐีและชาวจีนทั้งหลาย ดังนั้น พระองค์จึงโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายไปอยู่สถานที่แห่งใหม่ตั้งแต่คลองใต้วัดสามปลื้มจนถึงคลองเหนือวัดสามเพ็ง เริ่มดำเนินการในวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2325 หลังพระราชพิธียกเสาหลักเมือง 1 วัน และมีการเฉลิมพระราชมนเฑียรในวันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2325 แต่ขณะนั้นพระราชมนเฑียรสร้างด้วยเครื่องไม้และสร้างเสาระเนียดรายรอบพระราชวัง เพื่อประกอบพระราชพิธีปราบดาภิเษก

ต่อมาใน พ.ศ. 2326 พระองค์จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชมนเทียร พระมหาปราสาท เปลี่ยนเสาระเนียดจากเครื่องไม้เป็นก่อกำแพงอิฐ สร้างประตูรายรอบพระบรมมหาราชวัง ตลอดจนสร้างพระอารามในพระราชวังหลวง คือ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร (พระแก้วมรกต) เมื่อสร้างพระราชนิเวศน์มนเฑียรเป็นการถาวรแล้วโปรดเกล้าฯ ให้มีการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเต็มตามแบบแผนราชประเพณีอีกครั้งหนึ่งใน พ.ศ. 2328

พระบรมมหาราชวังได้มีการก่อสร้างเพิ่มเติมขยายอาณาเขตและบูรณปฏิสังขรณ์มาในทุกรัชกาล ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจุฑามณี กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ พระราชอนุชา ขึ้นเป็นพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงบัญญัติให้เรียกพระราชวังหลวงว่า พระบรมมหาราชวัง นั่นคือ ทรงบัญญัติให้ใช้คำว่า “บรม” สำหรับฝ่ายวังหลวง และ “บวร” สำหรับฝ่ายวังหน้า พระราชวังบวรสถานมงคลหรือวังหน้าจึงเรียกว่า “พระบวรราชวัง” เมื่อพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตแล้ว พระราชวังหลวงก็ยังคงใช้ว่า พระบรมมหาราชวัง มาจนกระทั่งปัจจุบัน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี